อีเมล์ :
รหัสผ่าน :
ลืมรหัสผ่าน
บริการประชาชน
เรา
14.15
เรา
สวัสดีคร้าาา... วันนี้มีอะไรให้ช่วยคะ ถามมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้ค่ะ
14.15
นโยบาย

คำแถลงนโยบาย

ของ

นางบุญตา  แสงคง

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่

แถลงต่อ

สภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่

วันที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 10.00 น.

ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่

****************

เรียน    ท่านประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ที่เคารพ และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ ผู้ทรงเกียรติทุกท่าน

ตามที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ท่าอยู่ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นั้น

ท่านประธานที่เคารพ ดิฉันนางบุญตา  แสงคง ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ เลือกให้มาดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ ดิฉันมีความพร้อม และมีความตั้งใจจริง ที่จะบริหาร และพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ว่า “รวมใจพัฒนาท่าอยู่” โดยจะบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน และให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) และอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน) รวมทั้งระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้กระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างถูกต้องและยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน) ดิฉันนางบุญตา  แสงคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร      ซึ่งประกอบด้วย นายวีรพันธ์ ภริงคาร (รองนายก) นายเอนก เขตพิบูลชัย (รองนายก) และนายประทีป ตรีเพ็ชร (เลขานุการนายก) องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ จึงได้กำหนดนโยบายในการบริหารและพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ ระยะเวลา 4 ปี นับจากบัดนี้เป็นต้นไป

1. นโยบายโครงสร้างพื้นฐาน

1.1 ดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงถนนสายหลัก สายรองให้เพียงพอและมีคุณภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม ขนส่งผลิตผลทางการเกษตรและอื่นๆให้เพียงพอ

1.2 ดำเนินการจัดสร้างระบบน้ำประปา คูระบายน้ำ และขยายเขตไฟฟ้าพร้อมสาธารณูปโภคให้ได้มาตรฐานอย่างเพียงพอครอบคลุมทุกครัวเรือน

1.3 ดำเนินการจัดสร้างพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำบริเวณสระ หนอง คลอง บึง ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจอย่างเหมาะสม

1.4 จัดให้มีไฟฟ้าสาธารณะส่องแสงสว่างตามถนน ชุมชน สวนสาธารณะ และลานกีฬาอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดระบบ CCTV

1.5 ปรังปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดสระ อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำตื้น เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ

1.6 จัดสร้างปรับปรุงอาคารสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ศาลาอเนกประสงค์หมู่บ้าน เป็นต้น  ให้เพียงพอและมีคุณภาพทุกหมู่บ้าน

2. นโยบายด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิต

2.1 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ใช้วิถีชีวิต นำระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงในลักษณะที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

2.2 ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพต่างๆ ในตำบล เช่น กลุ่มหมู่บ้าน กลุ่มสตรี กลุ่มเลี้ยงปลากลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรกรทำสวน เป็นต้น ให้มีความยั่งยืนควบคู่กับการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ตลอดทั้งด้านวิชาการ

2.3 ส่งเสริมการผลิตสินค้าชุมชน และสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข สนับสนุนเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ให้เพียงพอและมีคุณภาพที่ดี

2.4 จัดบริการด้านการตลาดร่วมกับเอกชนในพื้นที่ เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภคมีสถานที่จำหน่ายสินค้าที่ถูกสุขอนามัย อาหารปลอดภัย

3. นโยบายด้านการพัฒนาสังคม

3.1 สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (A.E.C.)

3.2 ให้การสนับสนุนพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้มีศักยภาพ โดยจัดให้มีสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้เด็กมีพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

3.3 ให้การสงเคราะห์และจัดสวัสดิการแก่เด็กผู้ด้อยโอกาส คนพิการ คนชรา และผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในสังคม

3.4 ให้การสนับสนุนรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรมและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกองค์กร รวมทั้งเรียนรู้และบรรเทาสาธารณภัยชุมชน

3.5 ส่งเสริมสนับสนุนจัดบริการอินเตอร์เน็ตในระดับหมู่บ้าน ตำบล เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเรียนรู้ทันต่อเหตุการณ์ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร

3.6 ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมนันทนาการ การกีฬาทุกประเภทเพื่อพัฒนาสุขภาพ ตลอดทั้งการจัดให้มีสถานที่ออกกำลังกาย ลานกีฬา และอุปกรณ์การกีฬา ที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องในทุกหมู่บ้านและกิจกรรมการแข่งขันกีฬาของโรงเรียนในเขตพื้นที่ทุกระดับ

4. นโยบายด้านการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและการท่องเที่ยว

4.1 ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และติดตามประเมินผลการดำเนินงาน กำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ จัดทำแผน/โครงการพัฒนาตำบลให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณประจำปี โดยเน้นหลักประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

4.2 เสริมสร้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ตำบล ควบคู่ไปกับการพัฒนา    

 ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของประชาชนที่มีต่อการบริหารท้องถิ่น และอำนาจในการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ

4.3 ส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าอยู่ เช่น การพัฒนาเส้นทางคมนาคม แหล่งท่องเที่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลุ่มอาชีพ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดทั้งการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว โดยให้สอดคล้องกับแนวทาง/กรอบการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดพังงา

4.4 เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน ลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ประชาชนที่มารับบริการได้รับความสะดวกและมีความพึงพอใจ

4.5 พัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถของคณะบริหาร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล   ให้สามารถบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.6 ส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล ปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว จริงใจ ซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม ตลอดทั้งสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ในองค์การบริหารส่วนตำบลกับประชาชน และการออกเยี่ยมเยียนดูแลทุกข์สุขของประชาชน การจัดโครงการ อบต.เคลื่อนที่ เพื่อบริการด้านต่างๆ รับทราบปัญหาความต้องการจากประชาชนอย่างทั่วถึง

5. นโยบายด้านการศึกษา

5.1 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาท้องถิ่น วัฒนธรรม และพัฒนาความเจริญทางสังคม สถานศึกษา และโรงเรียนในตำบล เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น

5.2 สนับสนุนและส่งเสริมจัดการศึกษาก่อนวัยประถมศึกษา จัดหาสื่อการเรียนการสอน เครื่องเขียน แบบเรียน เครื่องแบบนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

5.3 ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียน โดยให้ผู้ด้อยโอกาสได้ศึกษามีความรู้ในวิชาชีพที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและวัย

6. นโยบายด้านศาสนาและวัฒนธรรม

6.1 ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม งานรัฐวิธี ฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นและคงอยู่สืบไป

6.2 ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนาทุกศาสนา เพื่อให้ประชาชนในตำบลได้มีส่วนร่วม

อย่างทั่วถึง

6.3 ส่งเสริมทะนุบำรุงศาสนา วัด มัสยิด และทุกศาสนาในตำบลเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

7. นโยบายด้านสาธารณสุข

7.1 สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยมีสุขภาพอนามัยที่ดี โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงการบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมกัน

7.2 ส่งเสริมสนับสนุนงานด้านกองทุนหลักประกันคุณภาพ (สปสช.) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

7.3 สนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่กับชีวิต และสุขภาพพลานามัยของประชาชน พร้อมทั้งมุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันและรักษาสุขภาพอนามัยอย่างทั่วถึง

8. นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

8.1 ส่งเสริมสนับสนุนการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของเด็ก เยาวชนและประชาชน ได้ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งการป้องกันเฝ้าระวังมลภาวะที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

8.2 ปรับปรุงจัดภูมิทัศน์ของตำบล สถานที่สาธารณะ สถานที่อยู่อาศัย ให้สะอาด น่าอยู่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองโดยประชาชนมีส่วนร่วม

8.3 จัดหาสถานที่ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล สร้างระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพ

8.4 ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟู รักษาและมีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างแท้จริง

          จากนโยบายดังกล่าวข้างต้นมีด้วยกันรวม 8 ด้าน ซึ่งดิฉันและคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล  ท่าอยู่ ได้กำหนดขึ้นและมีความเห็นตรงกันว่าการบริหารพัฒนาตำบลนั้นต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมและประชาชน ดังนั้นในช่วงระยะ 4 ปี นับจากนี้ไปใคร่ขอความกรุณาจากท่านประธานสภาและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกท่าน ได้โปรดกรุณาให้ข้อเสนอแนะและนำปัญหาความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชนมาบอกกล่าว หากมีข้อชี้แนะประการใดโปรดอย่าได้เกรงใจ เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดไป ดิฉันคิดว่าทุกท่านต่างก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตำบลท่าอยู่ของเราให้เจริญรุ่งเรือง ดิฉันและคณะผู้บริหารทุกท่านจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ เสียสละ และอุทิศเวลา โดยยึดถือผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมเป็นที่ตั้ง  และเป็นจุดหมายสำคัญที่จะนำพามาสู่ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรืองของพี่น้องประชาชนตำบลท่าอยู่ของเราอย่างยั่งยืนต่อไป  ขอขอบคุณค่ะ

 

--------------------------------